เก็บตก เบอร์ลิน มาราธอน เที่ยวยุโรปหลังวิ่ง

ฟังพอดคาสตอนนี้กัน ครับ

Berlin Marathon 2019
Berlin, Germany
29 September 2019

ตอนเด็กเรียนวิชาสังคม​ ในหนังสือ​แบ่งประเทศ​ทั่วโลก​ออกเป็น​
โลกกลุ่ม​ที่​ 1 ประเทศ​ทุนนิยม​ประชาธิปไตย​ที่พัฒนาแล้ว 
โลกกลุ่มที่ 2 ประเทศ​สังคม​นิยมคอมมิวนิสต์​
โลกกลุ่มที่​3 ประเทศ​กำลังพัฒนา​ (ส่วนใหญ่เป็นทุนนิยมประธิปไตย มีประเทศที่เป็นเผด็จการปะปนอยู่ด้วย)

เยอรมัน​ตะวันตก​อยู่​ในโลกกลุ่ม​ที่​ 1 ในขณะที่​เยอรมัน​ตะวัน​ออกอยู่ในโลกกลุ่ม​ที่​ 2

เมือง​หลวงของเยอรมัน​ตะวันออก​คือ​ กรุงเบอร์ลิน​ เมืองที่อยู่​ใจกลางประเทศ​เยอรมัน​ตะวันออก​ แต่ไฉนจึงมีกำแพงเบอร์ลิน​ที่กั้นระหว่าง​เบอร์​ลินตะวันตกที่เป็นส่วนหนึ่ง​ของเยอรมัน​ตะวันตก กับ เบอร์ลิน​ตะวันออก​ที่เป็นส่วนหนึ่ง​ของ​เยอรมัน​ตะวัน​ออก ตอนเด็กนึกภาพไม่ออกเลยไม่สงสัย

ก่อนวิ่ง​ 1​ วัน​ ได้มีโอกาส​ไปดู​ซากกำแพงเบอร์​ลิน ที่เหลือจากการถูกทุบทำลายในปี​ 1989 (พ.ศ. 2532) เห็น​ภาพของการแบ่งแยกระหว่างโลกเสรีประชาธิปไตย​กับสังคมนิยม​คอมมิวนิสต์​

ผมกลับมาค้นประวัติศาสตร์​เยอรมัน​สมัยหลังสงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​ 2 เพิ่ม​เติม​ จึงได้รู็ว่า​ ประเทศ​ที่แพ้สงคราม​อย่างเยอรมัน​ถูก​เข้าครอบครอง​ประเทศ​โดย​ฝ่ายชนะสงคราม​ ทั้ง​ฝ่ายโลก​เสรี​ประชาธิปไตย​อย่าง​ อเมริกา​ อังกฤษ​ และ​ฝรั่งเศส​ กับฝ่ายสังคมนิยม​คอมมิวนิสต์​ คือ​ โซเวียต​รัสเซีย​ ที่ทั้งหมดนี้อยู่ในฟากกลุ่มสัมพันธมิตรในสงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​ 2 ต่อสู้กับฝ่ายอักษะ มีเยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นแกนนำ

ไม่เฉพาะประเทศเยอรมัน​ที่ถูก​แบ่ง​เป็น​ตะวันตก​กับตะวันออก​ กรุงเบอร์ลิน​เมืองหลวง​ของเยอรมัน​ในขณะนั้น​ก็​ถูกครอบครอง​โดย​ 4 ประเทศ​ กรุงเบอร์ลิน​จึงถูก​แบ่ง​ออกเป็นเบอร์ลิน​ตะวันตก (เขตครอบครองของ อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส) ​กับเบอร์ลินตะวันออก​ (เขตครอบครองโดยโซเวียตรัสเซีย)โดย​ปริยาย​

โซเวียต​รัสเซีย​พยายามกดดันปิดล้อม​ อเมริกา​ อังกฤษ​ และฝรั่งเศส​ ที่ครอบครองพื้นที่ในเบอร์ลินตะวันตก​ เพื่อ​เข้า​ครอบครอง​พื้นที่​ทั้งหมด​ของกรุงเบอร์ลิน​ ปิดกั้นการขนส่งอาหาร​ การขนส่ง​ของทุกชนิด​ ตลอดจนการเดินทางทางบกเพื่อตัดขาดการติดต่อ​ แต่ด้วยศักยภาพ​ทางอากาศ​ของทั้ง​ 3 ประเทศ​ โดยเฉพาะ​อเมริกา​กับอังกฤษ​ ทำให้​ยังคงรักษา​การครอบครอง​พื้นที่​กรุงเบอร์ลิน​ตะวันตก​ไว้ได้​ โดยขนส่งอาหาร สิ่งอุปโภคบริโภคและของอื่นๆ ในการดำรงชีวิต ทางเครื่องบิน

ตั้งแต่ปี 1961 โซเวียต​รัสเซีย​จึงสร้างกำแพง​เบอร์​ลินล้อมรอบ​เบอร์​ลินตะวันตก​ไว้​ จึงเหลือ​พื้นที่ไม่กี่ร้อยตารางกิโลเมตร​ของฝ่ายโลก​เสรีประชาธิปไตย​ท่ามกลาง​ประเทศ​เยอรมัน​ตะวัน​ออกของฝ่ายสังคมนิยม​คอมมิวนิสต์​

Berlin Marathon เริ่มวิ่งครั้งแรกในปี 1974 เส้นทางวิ่งจึงวิ่งในพื้นที่ เบอร์ลินตะวันตก จนกำแพงถูกทำลายในปี 1989 Berlin Marathon จึงวิ่งเข้าไปในพื้นที่ที่เคยเป็นเบอร์ลินตะวันออกครั้งแรกในปี 1990

ภายหลังการพังทลายของกำแพง​เบอร์​ลิน รัฐสภาเยอรมันก็ลงมติย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุง​เบอร์​ลิน

การพังทลายของกำแพงเบอร์บินจึงเป็นสัญลักษณ์​สำคัญของการล่มสลาย​ของระบอบ​สังคมนิยม​คอมมิวนิสต์​ แม้กระทั่งโซเวียตเองก็แตกออกเป็นหลายสิบประเทศ รัสเซียก็กลายเป็นประเทศประชาธิปไตย

+++

ในบรรดา​ World Marathon Majors 6 สนาม​ Berlin Marathon จัดเป็นรายการที่นักวิ่งแนวหน้าทำลายสถิติ​กันมากที่สุด​

World Marathon​ Record 2:01:39 ชั่วโมง​ ก็มาทำกันที่นี่เมื่อปีที่แล้ว​ (2018) อาจจะด้วย​สภาพ​เส้น​ทางที่ไม่ได้มีทางชันมากนัก​ สภาพอากาศ​ก็ไมได้​หนาวเย็น​จนเกินไป​ ทำให้นักวิ่งจำนวนมากมาทำสถิติ​เวลาใหม่ๆ ได้ที่​สนามนี้เช่นกัน​

จากข้อมูลประวัติ​ Berlin Marathon​ รายการนี้จัดขึ้นตั้งแต่​ปี​ 1974 จัดวิ่งกันในพื้นที่​ที่เป็น​เบอร์​ลินตะวันตก​ เส้นทาง​เพิ่งจะมาปรับเปลี่ยน​ให้วิ่งลอดผ่านประตู​ชัย​ Brandenburg ที่เคยอยู่ใน​ดินแดน​เบอร์​ลินตะวันออก​ เมื่อปี 1990 (2533) ภายหลังกำแพงเบอร์​ลินถูกทำลาย

ในปีนั้น​ นักวิ่งชาวเยอรมัน​เกือบทุกคน​มีน้ำตาอาบใบหน้าขณะวิ่งผ่านลอดประตูชัย​ Brandenburg ที่​ดีใจ​มีความสุขที่เอกภาพของดินแดนและประชาชน​ชาวเยอรมัน​ได้กลับมารวมตัวกัน​กันอีกครั้ง​ หลังจาก​ถูก​ตัดขาดไปกว่า 50 ปีด้วยเพราะความเห็นต่างทางการเมือง​

+++

ขณะที่​ผมวิ่งผ่าน​ประตู​ชัย​ Brandenburg ถึงผมจะไม่รู้​สึก​อะไร​กับเหตุการณ์​ในอดีต(และก็คิดว่า​เกือบทุกคนก็เป็นเช่นนั้น​เพราะเหตุการณ์​ก็​ผ่านมานานแล้ว)​ แต่ประตูชัย​ Brandenburg สัญลักษณ์​แห่งชัยชนะ​ที่อยู่​ห่าง​จาก​ เส้นชัยมาราธอน​ ไม่เกินสองร้อยเมตร​ ก็​ทำให้​นักวิ่งตัวเล็ก​ๆ อย่างผม​ หัวใจพอง​โต​ มีแรงฮึดเฮือกสุดท้าย​ เพื่อวิ่งไปคว้าชัยชนะ​ให้ตัวเอง​

แม้ว่าครั้งนี้​ผมจะไม่ได้สถิติ​เวลาตามคาดหมาย แต่​ Berlin Marathon​ ก็​มี​อะไร​ให้น่าจดจำไม่น้อยทีเดียว

+++

ตั้งแต่​สมัครรายการวิ่งระยะมาราธอน​ที่ต้องพึ่ง​ดวง​ ผมยังไม่มีดวงกับเขาเลยสักรายการ​ รวมถึง​ Berlin Marathon​ ที่พลาด​ lotto (lottery entry หรือการสุ่มคัดเลือก​ผู้​สมัคร​ที่สมัครเข้ามามากกว่าที่งานรับได้)​

พี่อนันต์​ชวนไปวิ่งโดย​การซื้อทัวร์​ ​ส่งลิงค์​บริษัท​ทัวร์​แห่งหนึ่งในประเทศ​อังกฤษ​มาให้ดู​ ราคารวมที่พักน่าสนใจมาก​ บริษัท​ทัวร์​น่าเชื่อถือ​​ Berlin Marathon​ เลยถูก​กำหนดเป็นสนาม​ World​Marathon​Majors​ สนามที่​ 2 ของผมตั้งแต่ต้นปี​ 2019​ โดยมีพี่อนันต์เป็นเพื่อนร่วมทางพร้อมเพื่อนนักวิ่ง ปตท.สผ. อีก 3 คน (แต่นั่นเขาโชคดีที่ได้ lotto)

สิ่งที่ต้องจัดการเพิ่มเติม​คือ​ จองตั๋ว​เครื่องบิน​ ทำวีซ่า​เชงเก้น​เข้าเยอรมัน​ และจัดโปรแกรม​เที่ยวก่อนและหลังวิ่ง(ไหนๆ​ ก็​ไปไกล​แล้ว​ ถือโอกาส​เที่ยวเลย)​

จองตั๋ว​เครื่องบิน​ก็​คงเป็น​เรื่องง่ายดายสำหรับทุกคน​ เปิด​เข้าไปดูแอปต่างๆ​ที่ให้บริการ​ค้นหาตั๋วเครื่องบิน​ เลือกเส้นทาง​บิน​ เลือกชั้น​ที่นั่ง เลือก​ราคาได้ตามความต้องการ​ จองเร็วก็มีแน้วโน้มได่ตั๋วราคาดี​ เวลาต่อเครื่องบิน​สั้นไม่รอนาน​

การทำวีซ่าเยอรมัน​ก็​ไม่ยุ่งยาก​ เข้าเว็บ​ค้นหาว่า​ ทำวีซ่า​เยอรมัน​ ก็​มี​คำแนะนํา​อย่างละเอียด​ทุกขั่นตอน​ ทั้งการกรอกใบสมัคร​ ถ่ายรูป​ การเตรียมเอกสารใช้ยื่นขอวีซ่า​และเอกสาร​พิสูจน์​ตัวเองว่าจะเข้าเยอรมัน​แล้วกลับเมือง​ไทย​แน่นอน​(ดูเหมือนว่า​จะกลัวเข้าแล้วไม่ออก)​

ก่อนไปยื่นเอกสาร​ ต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า​ ไปถึงก็สะดวก​ ผมใช้เวลารวม​ประมาณ​ 1 ชั่วโมง​ก็เสร็จ​เรียบร้อย​ บอกวัตถุประสงค์​ว่าจะไปวิ่ง​ Berlin Marathon ​พร้อมเอกสารตอบรับการวอ่ง เจ้า​หน้าที่​สถานทูตไม่ได้ถามอะไร​มาก​ แค่เช็คยอดเงินเดือนเข้า​บัญชี​ว่าจริงตามที่ให้ข้อมูล​ไว้เท่านั้น

+++

ผมกับพี่อนันต์​ออกเดินทาง​คืนวันพฤหัสที่​ 26 กันยายน​ เดินทาง​ถึง​ Berlin ราว​ 8:30 เช้า​ของวันที่​ 27 กันยายน​ตามเวลาท้องถิ่น​

รับกระเป๋า​แล้วออกมาเจอบูธ​ Tourist info เข้าไป​รับบัตร​ Welcome Card ที่​ใช้ขึ้น​ขนส่งสาธารณะ​ทุกประเภทในเบอร์ลินที่จองผ่านทางเว็บ​ แล้ว​เดินไปที่ท่ารถบัสที่อยู่​นอกตัวอาคาร​เพื่อเดินทางไปโรงแรม​ (ก่อนขึ้นรถบัส​ เอา​ Welcome Card ไปปั๊มวันที่​แสดงว่าเราได้เริ่มใช้บัตรแล้ว​ที่เครื่อง​เล็ก​ๆ​ สีขาวเหลือแถวท่ารถบัส)​

รถบัสสาย​ TXL พาผมมาส่งที่​หน้า Central Station และต่อรถ​ Tram พาส่งจุดที่ใกล้โรงแรมมากที่สุด​ โดย​รวมแล้ว​ ก็​สะดวกสบาย​ ไม่ยากลำบากอะไร​ และเราสามารถ​ใช้​ Google​Maps ค้นหา​เส้นทาง​ การเดินด้วยขนส่งสาธารณะ​ได่อย่างละเอียด​พร้อมข้อมูล​ว่า​ รถไฟ​หรือรถบัส​ จะมาในอีกกี่นาทีข้างหน้า​

+++

ผมกับพี่อนันต์​ฝากของไว้ที่โรงแรม​แล้วเดินทาง​ไปงาน​ expo รับ​ bib

งานจัดที่สนามบินเก่า​ Tempelhof ที่อยู่​ห่างไปทางใต้ของกรุงเบอร์ลิน​ สนามบิน​ที่สร้างก่อนสงครามโลก​ครั้ง​ที่​ 2 มีบทบาทอย่างมากในการเผชิญหน้า​ของมหาอำนาจต่างขั้วยุคสงครามเย็น​

สถานที่จัดงาน​ expo​ Berlin Marathon ถึงใหญ่โต​กว้างขวาง​มากแต่ไม่อลังการ​ดูดีเหมือนของงาน​ Chicago Marathon​ ที่​ผมเคยไป​ ประตูทางเข้าออก​ก็​คับแคบไปเลยเมื่อเจอมหาชนนักวิ้งที่พร้อมใจกันมาจนทางเข้าทุกช่องที่เป็นประตูจะเบียด​เสียดยัดเยียด​ดูไม่เป็น​ระเบียบ​เรียบร้อย​เลย​

กว่าจะเข้าไปถึงจุดรับ​ bib​ได้​ ก็​ใช้เวลานานทีเดียว​และต้องเดินผ่านงาน​ expo​ ตลอดงาน

การรับ bib​ ต้องใช้​ qr code พร้อม​ passport เพื่อยืนยัน​ตนเอง​ 2 จุด​ คือ​ จุดที่ติด​ wristband สายรัดข้อมือ​ และจุดที่ไปพิมพ์​รับ bib

ได้​ bib แล้วก็​เดิน​ออกมารับเสื้อที่สั่งล่วงหน้า​ไว้​ ทั้งเสื้องานและเสื้อ​, finisher (ถ้าไม่ได้สั่ง​ มาซื้อในงานก็ได้)​ จากนั้น​ก็​เดินซื้อของ​ในงาน​ expo​ ที่​มีของมาขาย​เยอะ​มากทีเดียว​แต่ผมรู้สึก​ว่าจะแพงกว่าในงาน​ expo​ ของ​ Chicago Marathon​

+++

วันเสาร์​ที่​ 28 กันยายน​ พวกเราไม่ได้​ไป​ expo​ แต่ใช้​เวลาเดินเที่ยว​ชมกรุงเบอร์ลิน​ ตั้งแต่ย่าน​ Alexanderplatz ไปจนถึงประตูชัย​ Brandenburg แวะเข้าไป​ชมรัฐบาล​เยอรมัน​ แล้วเดินเที่ยวถ่ายรูป​ในย่านแถบนั้น​ แล้วนั่งรถไฟไปชมกำแพงเบอร์​ลิน​ หาอาหาร​เย็น​ทาน​ กลับโรงแรม​เตรียมตัว​เพื่อออกวอ้งในวันรุ่งขึ้น​

+++

เช้าวันอาทิตย์​ที่​ 29​ กันยายน​หลังจาก​ทานอาหารเช้าเรียบร้อย​แล้ว​ ผมกับพี่อนันต์เดินออกจากโรงแรมแวะไปรับเล็ก แล้วพากันเดินไปด้วยกัน 3 คน ไปยังจุดสตาร์​ทที่อยู่​ห่างออก​ไป​ราว​ 3km ใช้เวลา​เดินประมาณ​ 30-40 นาที

ช่วงใกล้ประตูชัย​ Brandenburg เริ่มเห็น​ว่าตรงจุดนี้จะเป็นส่วนหนึ่ง​ของเส้นทางในช่วงสุดท้าย​ก่อนเข้าเส้นชัย​ นึกถึงความรู้สึก​ตอนวิ่งมาถึงตรงนี้ในอีกไม่กี่ชั่วโมง​ข้างหน้า ก็หวั่นๆ​ ว่า​ สภาพร่างกาย​ผมจะเป็​นเช่นไร​

พวกเรา​เดินลอดประตูชัย​ทางด้านขวา​ เดินตามนักวิ่งที่เดินเป็นขบวนไปทางข้างๆ​ รัฐสภาเยอรมัน​ ที่เป็นทางเข้าสู่​จุดสตาร์ท​

ผ่านจุด​ตรวจ​ wristband ตรวจ​ bib​ ก็​เจอจุดฝากของ​ เข้าไปช่องระบุเบอร์​ bib​ ของเรา​ ฝากแล้วเดินต่อไปยังจุดสตาร์ตททึ่อยู่​ลึกเข้​าไป​ตามป้ายบอกทาง

ในงาน​มีห้องน้ำชั่วคราว​จำนวนมากแต่ก็ไม่เพียงพอกับนักวิ่ง​ แต่สภาพภูมิประเทศ​ที่เป็นใจ​ มีสุมทุมพุ่มไม้​หนาทึบราวป่าลึก​ ทำให้​นักวิ่งจำนวนมากไปยืนปลดปล่อย​เพื่อ​ให่เบา​ตัวก่อนออกสตาร์ท​ ต้นไม้ก็ได้ปุ๋ยชั้นดีปีละหน นับเป็นชัยภูมิ​ที่​ยอดเยี่ยม​ทีเดียว​

ผม เล็ก และ พี่อนันต์​อยู่​ใน​ block E จากเวลาวิ่งที่ใส่ตอนสมัครช่วง​ 3:15-3:30 ชั่วโมง​ ถูกจัดอยู่ใน​ wave 2 ที่ปล่อยตั​วเวลา​ 9:25​ น. หลัง​ wave แรกที่ปล่อยเวลา​ 9:15 น.

เดินเข้าไปใน block เจอครูช้าง ทักทายถ่ายรูปกัน

ก่อนปล่อย​ตัวมี​เพลงสนุกๆ​ เปิดปลุก​อารามณ์​นักวิ่งให้ฮึกเหิมพร้อมที่จะออกศึกบนเส้นทาง​ Berlin Marathon​ ในอีกไม่กี่นาที​ข้างหน้า​ จากนั้นก็นับถอยหลังถึงเวลาสตาร์ทตามกำหนด งานนี้ใช้ปืนยิงต่างจากงานในไทยที่ใช้แตรลม

+++

09:25 น. เสียงปืนดังขึ้น แต่ผมค่อยๆ เดินไปยัง Checkpoint ท่ามกลางนักวิ่งจำนวนมาก

พอเท้าแตะจุดอ่าน Timing Chip บรรยากาศก็พาเท้าผมสับแหลก ผมกด Pace ต่ำกว่า 4:40 min/km ลงไปถึง 4:30 แต่ด้วยความรู้สึกไม่เหนื่อย ยังคงวิ่งไปได้สบายๆ ต่อเนื่อง ทำให้วันนี้เริ่มมีความหวังที่จะทำสถิติใหม่ได้ในสนามนี้

Highlight จุดแรกที่นักวิ่งผ่าน เป็นเสาสูงตระหง่านมีรูปปั้นสีทองสวยงาม Victory Column มีรูปปั้นที่ติดอยู่บนยอด เป็นเทพโรมันสตรีนาม Victoria ทุกคนเลือกวิ่งวนไปทางซ้ายหรือขวาก็ได้เพื่อตรงไปตามถนนเดิมจนวิ่งไปถึงวงเวียนแลี้ยวขวา วิ่งไปทางด้านเหนือของกรุงเบอร์ลินผ่านย่านสถานที่ราชการ แล้ววิ่งต่อไปทางทิศตะวันออก แล้ววกลงมาทางทิศใต้ ลดเลี้ยวไปตามถนนแยกแล้วแยกเล่า ต่อเนื่องไปทางทิศตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ แล้ววนกลับเข้าใจกลางเมือง จนเลี้ยวไปเจอประตูชัย Brandenburg ที่อยู่ก่อนถึงเส้นชัย วิ่งต่อไปเพียง 200 เมตร ก็เข้าเส้นชัยแบบฟินๆ

ผ่านจุด 5k Checkpoint ผมมองเวลาขณะผ่านได้ 33 นาที หักเวลาที่ออกช้ากว่า wave 1 ประเมินว่าผมคงได้เวลาราว 23 นาที เป็นไปตามแผนการวิ่งที่ผมจำว่า ถ้าผมจะวิ่งได้ 3:18 ชั่วโมง อันเป็นเวลาที่พอมีลุ้น Boston Marathon Qualifying Time

ผ่่านจุด 10k Checkpoint เวลาที่ผมอ่านได้ อยู่ที่ 55 นาที หรือประมาณ 45 นาที ก็ยังคงเป็นไปตามแผน ครั้งนี้ สภาพร่างกาย ก็ยังไปได้ ไม่รู้่สึกเหนื่อยมากอย่างที่เคย อาจจะเป้นเพราะอากาศที่เย็นช่วยให้ผมเป็นเช่นนั้น

1 ใน 4 ของระยะทาง ผมวิ่ง Pace เฉลี่ย 4:36 ดีกว่าเป้าหมาย 6 วินาที ผมเริ่มย่ามใจ

ผ่านจุด 15k checkpoint ผมก็ยังรู้สึกวิ่งสบายๆ กว่าทุกครั้ง มอง Pace บนนาฬิกาและฟังเสียงที่รายงานของ Garmin Connect ผ่านหูฟัง เสียงแจ้งอัตราการเต้นหัวใจที่ไม่เกิน 70% ยิ่งทำให้ผมรู้สึกมั่นใจว่า วันนี้น่าจะมีผลเวลาที่ดีกว่าที่คาดไว้ ผ่านจุดนี้ ผมวิ่งไปแล้ว 1:09 ชั่วโมง ดีกว่าเป้าหมายที่ 1:10 ชั่วโมง

เมื่อใกล้กิโลเมตรที่ 20 ผมรู้สึกได้เลยว่า Pace เริ่มตก เริ่มเห็น Pace 4:40-4:45 min/km แต่เมื่อผ่านครึ่งทาง เวลาที่ผมวิ่งได้ ก็ใกล้เคียงกับเวลาเป้าหมายที่ 1:38 ชั่วโมง ผมยังคงวิ่งได้ตามแผน แต่ก็เริ่มรู้สึกไม่มั่นใจขึ้นแล้ว

ผ่านครึ่งทางไปแล้ว ความรู้สึกก็ยังรู้สึกไปได้เรื่อยๆ ไม่เหนื่อยหอบ Garmin Connect ก็ยังรายงานอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 70% แต่ Pace เริ่มตกลงมา 4:50 ช่วงนี้ผมเริ่มเห็น Pacer ติดธงอยู่ไกลๆ เลยพยายามวิ่งเข้าไปใกล้ๆ เพื่อดูว่าเป็นเวลาเท่าไร พอไปใกล้ๆ เห็นเป็น Pacer 3:30 hrs รู้สึกตกใจที่ว่า ทำไมผมวิ่งตาม Pacer 3:30 ชั่วโมงได้ แต่พอดูเวลาก็คิดว่า Pacer 3:30 hrs น่าจะออกวิ่งมาก่อนผม เลยนำหน้าผมจนผมวิ่งไล่ทัน

ช่วงกิโลเมตรที่ 20-25 Pace ผมตกลงมาถึง 4:57 min/km บางช่วง Pacer 3:30 hrs เริ่มแซงผม ผมรู้ตัวแล้วว่า ผมวิ่งช้ากว่า Pace 5 แล้ว Pacer เวลานี้ถึงแซงได้ เลยกัดฟันวิ่งเกาะ Pacer ไป แต่น่าแปลกใจ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เหนื่อยอะไรมาก แต่เร่งความเร็วเท่าไหร่ ก็ไม่ขึ้นเหมือนช่วงวิ่งแรกๆ ให้รู้สึกว่า ท่วงท่าในการวิ่งไม่ค่อยลื่นไหล พยายามรวบรวมสติเพื่อพิจารณาท่าทางในการวิ่งของตนเอง โดยคิดว่า น่าจะทำให้การวิ่งดีขึ้น

ผ่าน Checkpoint กิโลเมตรที่ 30 เวลาผมหลุดเป้าไปเกือบ 2 นาที ตอนนี้ผมคิดแล้วว่า ถ้ายังพอเร่งขึ้นได้ อย่างเก่งผมก็ทำได้แค่ 3:20 ชั่วโมง ซึ่งไม่พอที่จะเอาไปเขียนใบสมัคร Boston Marathon แต่ก็พยายามที่จะกด Pace ลงอยู่ตลอดเวลา หวังใจว่า จะมีแรงฮึดที่สามารถทำได้ แต่ทว่า การรักษา Pace ไม่ให้หลุด 5 min/km ก็แทบจะทำไม่ได้ ขาดูเหมือนจะหนักมากขึ้นๆ ก้าวแต่ละก้าวรู้สึกได้เลยถึงความยากลำบาก

ความพยายามในการวิ่งไล่ตาม Pacer 3:30 hrs ของผม มาจบที่กิโลเมตรที่ 38-39 ที่ Pacer 3:30 hrs เริ่มทิ้งห่างผมไปทีละนิดๆ โดยผมไม่สามารถกด Pace เพื่อไล่ตามได้ ฝนที่ตกหนักมากขึ้นตั้งแต่กิโลเมตรที่ 20 กว่าๆ ทำให้หนาวเย็นมากขึ้น พื้นเจิ่งนองไปด้วยน้ำ แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกทรมานเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ผมไม่สามารถกด Pace ให้เร็วขึ้นได้ เหมือนมันติดขัดอะไรบางสิ่งบางอย่าง ทั้งๆ ที่ระบบหายใจของผมก็ยังดีอยู่ ยังไม่รู้สึกเหนื่อยเท่าไหร่ อัตราการเต้นหัวใจก็ไม่สูงไปกว่า 70% หรือนาฬิกาวัดผิดก็ไม่รู้ได้

เส้นทาง Berlin Marathon ที่คดเคี้ยวไปมา ทำให้กว่าจะเห็น Landmark สำคัญใกล้เส้นชัย ก็เมื่อผมเลี้ยวผ่านกิโลเมตรที่ 41 ใกล้กิโลเมตรที่ 42 แล้ว ทำให้การวิ่งในช่วงหลังกิโลเมตรที่ 30 ไปแล้ว วิ่งความพยายามในการเร่ง Pace ให้เร็วขึ้น พยายามจะให้กลับไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 4:45 ให้ได้ แต่ก็ทำไม่ได้ ทำไม่ได้จนไปถึงกิโลเมตรสุดท้ายที่มองเห็นประตูชัย Brandenburg ปล่อยให้ Pacer 3:30 hrs วิ่งเข้าเส้นชัยทิ้งห่างผมไปพอสมควร

ผมพยายามวิ่งในช่วงสุดท้าย แต่ทำได้แค่ Pace ราวๆ 5 min/km วิ่งมองประตูชัย มองซุ้มเส้นชัยสีน้ำเงิน วิ่งผ่านจุด Checkpoint สุดท้าย กดนาฬิกาหยุด มองนาฬิกา เห็นตัวเลข 3:23 ชั่วโมง เป็นอันว่า ความหวังในการทำ Boston Qualifying Time บนเส้นทางนี้ไม่สำเร็จอีกครั้ง

การวิ่งไล่ความฝันของผม ยังคงดำเนินต่อไป….

+++

ผ่านเส้นชัยแล้ว ผมแทบทรุดลงนอน ถึงแม้ไม่ได้เป็นตะคริว แต่ความรู้สึกปวด ช้ำ ตั้งแต่เท้าจนขึ้นมาถึงต้นขา ทวีความเจ็บปวดมากขึ้น แต่ละย่างก้าวคือความเจ็บปวดอันเกิดจากแรงกระแทกตลอดระยะทาง 42km ผมใช้เวลาค่อยๆ เดินไปรับเหรียญ ค่อยๆ เดินไปรับแผ่นพลาสติกมาคลุมตัวเพื่อบำบัดความหนาวสั่น ค่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ หยิบเกลือแร่ มาดื่ม โดยหวังว่าจะทำให้ดีขึ้น หยุดพักเป็นช่วงๆ เพื่อยืดกล้ามเนื้อขาบรรเทาความเจ็บปวด แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผลเท่าไรนัก ระหว่างทางมีเจ้าหน้าที่มาถาม ว่ายังโอเคไหม ผมตอบไปตามความจริงว่า ไม่โอเคเลย แต่คำตอบที่ได้กลับมาบอกว่า ให้เดินไปทางโน้น มีบริการนวดคลายกล้ามเนื้อ ผมเลยค่อยๆ เดินไป โดยหวังว่า การนวดคลายกล้ามเนื้อจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดมากที่สุดเท่าที่เคยวิ่งระยะมาราธอน แต่ไปถึงก็ผิดหวัง อาสาสมัครปิดรับไม่ให้เข้า โดยบอกว่า คนเยอะแล้ว

ผมค่อยๆ เดินไปตามทางเพื่อไปรับของที่ฝากไว้ เห็นพี่อนันต์่ยืนรออยู่ก่อนแล้ว พี่คงยืนรอหนาวอยู่พักใหญ่ ผมเลยรีบไปเอาของเพื่อจะได้ไปเปลี่ยนเสื้อผ้า ความหนาวเหน็บคงลดลง

เมื่อเดินไปเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว ผมชวนพี่อนันต์กลับโรงแรม ถึงแม้จะใช้บริการรถไฟใต้ดิน แต่ก็ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงได้ กว่าจะไปถึงโรงแรมที่อยู่ไปแค่ 3km เพราะความเจ็บปวดที่ทำให้ผมเดินได้อย่างเชื่องช้า

+++

ผมอาบน้ำเสร็จ ทิ้งตัวลงนอน พยายามโทรติดต่อพี่เปิ้ล พี่คนหนึ่งที่มาวิ่งด้วย แต่พี่เขาโทรกลับมาราวๆ บ่ายสี่โมงกว่าๆ ปลายสายบอกว่า ตอนนี้ผ่านกิโลเมตรที่ 39 มาแล้ว ผมตกตะลึงระคนดีใจ บอกพี่อนันต์ที่นอนอยู่บนเตียงข้างๆ ว่า ผมขอไปรับพี่เปิ้ล แล้วคว้าโทรศัพท์ ไปทั้งชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้น ลืมหยิบเสื้อกันหนาว ลืมหยิบ bib หรือ เหรียญ เพื่อใช้เป็นทางผ่านเข้าไปบริเวณที่อนุญาตเฉพาะนักวิ่ง แล้วกึ่งเดินกึ่งวิ่งไปยังสถานีรถไฟที่อยู่ห่างไป 700 เมตร ขึ้นสถานีรถไฟใกล้ๆ ประตูชัย Brandenburg ไปยืนเกาะรั้วรอพี่เปิ้ล

สักพักจึงเห็นพี่เขากึ่งเดินกึ่งวิ่งมากับนักวิ่งคนไทยคนหนึ่งที่ช่วยพากันวิ่งมาจนถึงจุดที่ผมรอรับ 
ผมร้องตะโกนเชียร์อย่างดีใจ ต้องยอมรับเลยว่า ผมไม่เคยคิดเลยว่า พี่เขาจะวิ่งมาถึงจุดนี้ได้ ผมลืมความผิดหวังที่ตัวเองพลาดโอกาสในการทำสถิติ กลับดีใจที่เห็นผู้หญิงคนหนึ่งใช้ความพยายามอย่างน่าประหลาดใจในการพาตัวเองวิ่งมาถึงระยะ 42km ได้

Berlin Marathon ของผมเลยจบด้วยความยินดี 
สำหรับผมแล้ว การวิ่วครั้งนี้ก็เป็นประสบการณ์การวิ่งที่ดีครั้งหนึ่ง ที่ได้มาวิ่งในเส้นทางที่คนทั่วโลกอยากมาวิ่ง ได้ร่วมเดินทางมาวิ่งกับพี่ๆ เพื่อนๆ และได้เห็นความพยายามของคนๆ หนึ่ง ที่หลายคนไม่คิดว่าจะวิ่งได้

เป้าหมายการวิ่งไปตามสนาม World Marathon Majors ของผม ยังคงดำเนินต่อไป…

#BerlinMarathon2018 #Berlin46
#IntaniaRunner
#PTTEPRunners #CityTrailRunners

Image may contain: 5 people, including Jirapong Lohtrakulchai and Anan Sinturuk, people smiling, people standing, shoes and outdoor

Photo: ซ้าย (ผมเอง) กลาง (Lek ที่ 1 คนไทย เวลา 2:50) ขวา (พี่อนันต์ ที่ 7 รุ่นอายุ 65 เวลา 3:18)

Berlin Marathon Mascot: Frido (ตัว Weasel)

บทความโดย โจ Jirapong Loh

ใส่ความเห็น