13 ตุลาคม 256307:00-12:30
CityTrail Run สัญจร ราชบุรี
13 ตุลาคม 2563
07:00-12:30
ราชบุรี เมืองต้องห้ามพลาด
การรวมตัวของนักวิ่งต่างถิ่นกับนักวิ่งท้องถิ่นแห่งเมืองราชบุรี เพื่อค้นหาความเป็นเมืองราชบุรี เมืองที่มีเรื่องราว มีชีวิต มีศิลปะ มีวัฒนธรรม ต่อเนื่องยาวนานไม่ขาดสาย จะหยิบเอาช่วงเวลาใดในอดีต ก็จะเห็นเมืองราชบุรี เมืองที่มีเอกลักษณ์ มีบทบาทในทุกช่วงเวลานั้น
นักวิ่งกว่า 30 คน ได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์ ณรงค์ เทียมเมฆ พร้อมกับนักวิ่งชาวราชบุรี อาสาพาพวกเราวิ่งไปเรียนรู้เรื่องราว ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ตลอดระยะทาง 17 กิโลเมตร เริ่มจาก
.

>> หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ริมแม่น้ำแม่กลอง


แม่น้ำสายสำคัญของดินแดนภาคตะวันตก อันเกิดจาก แควศรีสวัสดิ์ (แควไหญ่) และแควไทยโยค (แควน้อย) บรรจบพบกันที่ปากแพรก กาญจนบุรี ไหลลงใต้สู่เมืองราชบุรี สายน้ำแห่งนี้อาจจะไม่ได้ชื่อมาจากเครื่องดนรีที่ขึงด้วยหนังตีเสียงดัง แต่อาจจะมาจากภาษามอญที่ออกเสียงว่า “โคล้ง” และอาจจะเป็นรากคำเรียกแม่น้ำทั้ง แม่น้ำโขง (ไทยออกเสียง) แม่น้ำของ (ลาวออกเสียง) หรือ แม่น้ำคง (สาละวิน) และสายน้ำแม่น้ำแม่กลอง
อาจารย์ณรงค์ เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์เพิ่มเติม จุดตั้งทัพใกล้แม่น้ำแม่กลองเหนือเมืองราชบุรีที่พระเจ้าตากสินมาตั้งทัพยันพม่าในคราวศึกบางแก้ว ที่พระเจ้าตากสินล้อมจับพม่าได้กว่า 1,200 คน จับเป็นๆ เพื่อให้คนไทยดูว่า พม่าไม่น่ากลัวอย่างที่คิด คนไทยสามารถสู้รบกับพวกพม่าเหล่านี้ได้ ในพื้นที่เกิดศึกนั้น กลศึกที่เร่งให้พม่าอดโซ มีทั้งการนำเอายาพิษใส่ในแหล่งน้ำที่เขาช่องพราน การตัดเสบียง จนพม่ายอมแพ้โดยไทยไม่เสียไพร่พล

อาจารย์เล่าเพิ่มเติมว่า ในบริเวณนั้น มีเขาชะงุ้ม เขาที่เคยเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดิน แต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ นำวิธีปรับปรุ่งดินมาพลิกฟื้นจนกลายเป็นป่าขึ้นหนาแน่นอุดมสมบูรณ์ไปทั่วบริเวณ จนองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดให้วันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก อันเกิดจากพระราชกรณียกิจพลิกฟื้นดินที่เขาชะงุ้มแห่งนี้
>> ‘เด็กดิน’ ประติมากรรมเด็กยักษ์อารมณ์ดีที่ราชบุรี เป็นอีกจุดหนึ่งที่กลายเป็นจุดที่ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปกับประติมากรรมสร้างความเป็นเมืองศิลปะให้แก่เมืองราชบุรี นอกจาก Street Art ที่ซ่อนอยู่ตามผนังตึกให้นักวิ่งได้วิ่งเก็บภาพถ่าย ที่อยู่ใกล้ หอศิลป์ร่วมสมัย : d Kunst ที่วันข้างหน้าจะต้องแวะเข้าไปชมงานศิลป์ กินกาแฟ แน่นอน แต่วันนี้ขอวิ่งเที่ยวชมเมืองราชบุรีก่อน

>> สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองจุฬาลงกรณ์ เป็นจุดหมายที่พวกเราวิ่งเลียบแม่น้ำแม่กลองมาย้อนรอยเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มารับทราบเรื่องราวที่ครั้งหนึ่ง เมืองราชบุรีกลายเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องส่งเครื่องบิน B-24 บินไกลจากอินเดียมาทิ้งระเบิดให้ได้ โดยเฉพาะสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ที่เป็นทางคมนาคมสำคัญของทหารญี่ปุ่นที่ใช้เมื่อคราวที่ดึงไทยเข้าร่วมส่งครามเพื่อส่งกำลังไปโจมตีอังกฤษในพม่า



สิ่งที่กลายเป็นหลักฐานสำคัญของการโจมตี้ครั้งนี้ เป็นหัวรถจักรที่นอนอยู่ใต้ผิวน้ำแม่กลองที่ยังนำขึ้นมาไม่ได้ เพราะเกรงว่า ระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ที่อยู่ไม่ห่างกันจะระเบิดและอาจจะมีรัศมีทำลายได้มากถึง 1 กิโลเมตร เป็นระเบิดที่ชาวราชบุรีรอวันให้กอบกู้ขึ้นเพื่อสร้างความโล่งอกให้ชาวราชบุรี


>> วัดเขาวัง วัดที่เคยมีวังที่ประทับของรัชกาลที่ ๕ และใช้เป็นที่ต้อนรับราชทูตจากโปรตุเกส โดยมี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาก) เป็นแม่กองสร้าง จากจุดนี้เอง ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านี้ ชื่นชอบเมืองราชบุรี และใช้เป็นที่พำนักในราชบุรีในเวลาต่อมา ร่องรอยสถานที่สำคัญที่เกี่ยวพันกับท่าน สามารถพบเห็นได้หลายแห่งในเมืองราชบุรีนี้ ถึงแม้ปัจจุบัน วังบนเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัดแล้ว แต่ยังทิ้งร่องรอยให้เห็นเรื่องราวในอดีตให้เรียนรู้


>> เขาแก่นจันทร์ เขาสูงราว 140 เมตร ทำเอานักวิ่งเดินสลับวิ่งช้ากว่าจะถึงยอดเขา นักวิ่ง กทม ต่างอิจฉานักวิ่งราชบุรีที่มีภูเขาให้ซ้อมสร้างความแข็งแกร่งให้ร่างกาย บนยอดเขายังมี

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัตน์จตุรทิศ ประดิษฐานป้องกันประเทศไทย ณ เมืองราชบุรี
บนยอดมีมุมที่ถ่ายภาพเมืองราชบุรีจากมุมสูงได้สวยงาม ได้เห็นเขางูในภาพกว้างนึกถึงเหตุการณ์สงคราม ๙ ทัพที่พม่ามาตั้งทัพประชิดเมืองราชบุรี แต่ในที่สุดก็โดนสมเด็จกรมพระราชวังบวรต่อตีขับไล่กลับกรุงอังวะได้

>> เถ้า ฮง ไถ่ จากร้านทำโอ่งมังกร แต่ทายาทนำแนวคิดด้านศิลปะสมัยใหม่ที่ได้เรียนรู้จากเยอรมันนีมารังสรรค์ร่วมกับงานฝีมือปั้นโอ่งพื้นบ้านเมืองราชบุรี กลายเป็นเครื่องใช้ อุปกรณ์ ของตกแต่ง ที่สวยงามทันสมัย และยังนำความคิดศิลปะไปสร้างสรรค์ผลงานเติมสีสันทำให้เมืองราชบุรีกลายเป็นเมือง Arts ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แค่มาถ่ายรูปก็สร้างสีสันให้การเดินทางในครั้งนี้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่า จึงกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ได้โดดเด่นในเรื่องราวในอดีต แต่โดดเด่นในด้านศิลปะที่ใครมาเยือนเมืองราชบุรีต้องห้ามพลาดที่จะมาชม



>> วัดมหาธาตุ วัดเก่าแก่ที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยอิทธิพลของอาณาจักรพระนครแห่งเมืองเขมร ถึงแม้พระปรางค์ประธานจะได้รับการบูรณะในสมัยอยุธยา แต่จารึกพระขรรค์ที่กล่าวถึงเมือง ชยราชปุรี ก็ช่วยยืนยันว่า วัดมหาธาตุแห่งนี้เก่าแก่และเป็นศูนย์กลางเมืองราชบุรีก่อนยุคกรุงศรีอยุธยา



อาจารย์ณรงค์เล่าเรื่องราว นายผี อัศนี พลจันทร์ กวีร่วมสมัยที่บรรยายความคิดถึงบ้านยามที่นั่งริมฝั่งโขงเมืองลาว ผ่านบทกวี “เดือนเพ็ญ” ที่ต่อมา น้าหงา คาราวาน นำมาใส่ทำนองเป็นเพลงเดือนเพ็ญ และต่อมา แอ็ด คาราบาว นำไปร้องจนโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วเมืองไทย ถึงแม้จะไม่ได้กลับมาตายในแผ่นดินเกิด แต่เถ้าอัฐิก็ได้มาบรรจุในฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่งในวัดมหาธาตุแห่งนี้

ชีวิตนายผี อัศนี พลจันทร์ อาจจะตอกย้ำความขัดแย้งในยุคหนึ่งของเมืองไทย แต่บทเพลง เดือนเพ็ญ ก็ทำให้คนไทยไม่ว่าอยู่ฝ่ายไหน ได้เสพความไพเราะของกวีบทนี้
>> วัดช่องลม พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระสำคัญแห่งเมืองราชบุรี ที่มาเยือนเมืองนี้แล้ว ต้องมาสักการะเพื่อความเป็นศิริมงคลของผู้มาเยือน ที่วัดแห่งนี้ ยังมีหลวงพ่อห้อง เกจิอาจารย์ชื่อดังที่ชาวราชบุรีและคนในวงการพระเคารพนักถือและอยากได้เหรียญหล่อหลวงพ่อห้องมาบูชาสักองค์ เหรียญที่มีเรื่องราวถึงพุทธคุณในด้านคงกะพัน ฟันแทงไม่ระคาย แต่มาวันนี้ได้สักการะขอพรก็แช่มชื่นแล้ว


>> วัดศรีสุริยวงศ์ วัดสุดท้ายบนเส้นทางวิ่งซิตี้รันชมเมืองราชบุรี วัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สร้างขึ้น โดยสร้างในแบบศิลปะตะวันตกแปลกตา แปลกกว่าวัดอื่น ประดับหน้าบันด้วยตราสุริยวงศ์ (พระอาทติย์เปล่งรัศมี) ตราที่ได้รับพระราชทานพิเศษจากรัชกาลที่ ๕ สถานที่แห่งนี้ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้ว่า ขุนนางที่มีอิทธิพลสูงในรัชกาลที่ ๕ ท่านนี้เป็นใคร ทำไมท่านถึงได้มีเรื่องราวเยอะแยะมากมายที่เกี่ยวกับเมืองราชบุรีแห่งนี้ ถึงแม้ว่าความรับรู้จากหายไปจากชาวเมืองราชบุรี แต่ร่องรอยชื่อวัด ชื่อถนนหนทาง สิ่งปลูกสร้าง ก็ยังเป็นที่ประจักษ์ต่อไปให้ได้ศึกษาเรียนรู้


.สหกรณ์ฟาร์มโคนมหนองโพ
ในปี พ.ศ.2502 เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกับเกษตรชั้นนำที่ ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ตามคำเรียกร้องขอให้ทางราชการไปดำเนินการผสมเทียมโคในท้องถิ่นนี้ซึ่งจากการหารือและพิจารณาแล้วกรมปศุสัตว์จึงได้ตกลงเปิดสถานีผสมเทียมขึ้นณตำบลหนองโพเป็นสถานีผสมเทียมแห่งที่3 ของประเทศโดยเริ่มทำการผสมเทียมโคเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2502
เบื้องต้นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเหล่านี้ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปีพ.ศ.2512 เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว เมื่อความได้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้พยายามที่จะหาทางช่วยเหลือซึ่งในช่วงนั้นพอดีกับที่พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงงานผลิตนมผงขึ้นที่ภายในบริเวณสวนจิตรลดาพระราชวังดุสิตจึงมีการหารือกันในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ควรจะมีการสร้างโรงงานผลิตนมผงขึ้นที่ตำบลหนองโพ
โรงงานผลิตนมผงสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานชื่อ“โรงนมผงหนองโพ” โดยให้บริหารงานในรูปบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่า”บริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพจำกัด” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงถือหุ้นใหญ่ของบริษัทและได้รับพระราชทานเงื่อนไขไว้ด้วยว่าบรรดาเงินกำไรสุทธิที่คณะกรรมการบริษัทหาได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีการแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่ให้บริษัทนำกำไรสุทธิส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสะสมเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของบุตรธิดาสมาชิกของกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมและสมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้ส่งน้ำนมดิบให้แก่โรงงานเป็นประจำ
.
วันนี้อากาศดี เย็นสบายตลอดการวิ่ง ถึงแม้จะมีฝนตกปรอยๆ ช่วงวิ่งมาถึงวัดช่องลม แต่ก็ทำให้เย็นสบาย การวิ่งซิตี้รันราชบุรี จบลงที่จุดเริ่มต้นหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
.
.
กราบขอบพระคุณอาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ ที่จบการวิ่งแล้ว ยังพานักวิ่งมาทานก๋วยเตี๋ยวไข่คุณแหม่ม ของอร่อยของเมืองราชบุรี
ทานก๋วยเตี๋ยวเสร็จแล้ว นักวิ่งทุกคนกล่าวของคุณและร่ำลาอาจารย์ณรงค์ และนักวิ่งชาวราชบุรี ที่ต้อนรับขับสู้และดูแลนักวิ่งอย่างอบอุ่นที่สุด
ทุกคนคงได้กลับมาเยือนเมืองราชบุรีแบบนักท่องเที่ยวแน่นอน (ไม่นับที่อยากมางานวิ่งที่ต้องแข่งขันสมัครกับนักวิ่งทั่วเมืองไทย)
,
,
ปิดท้ายอยากเล่าเรื่องราวของผมในการเตรียมข้อมูลในครั้งนี้
เมืองราชบุรี มีอะไรให้ผมค้นหามากกว่าที่คิด ผมใช้เวลาหาความรู้เพิ่มเติมที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่า ที่นี่คือเมืองราชบุรี เมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวงของอาณาสยาม แต่มีเรื่องราวที่ศึกษาอย่างน่าสนใจ
ยิ่งไปกว่านั้น ผมได้ไปเจอเรื่องราวในอดีตของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงห่วงใยประชาชนชาวบ้านโป่งในคราวที่เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ไฟไหม้บ้านเรือนในตลาดบ้านโป่งกว่า 800 หลัง ประชาชนหลายพันเดือดร้อนกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ความทราบถึงพระกรรณ์ในหลวง พระองค์เสด็จเป็นการส่วนพระองค์เพื่อมาเยื่ยมประชาชนที่เดือนร้อนพร้อมพระราชทานทรัพย์และความช่วยเหลือ นำมาซึ่งความปราบปลื้มของประชาชนที่ในหลวงจะทรงรักและห่วงใยประชาชน
เหตุการณ์ครั้งนั้น ยังประทับอยู่ในจิตใจของประชาชนชาวบ้านโป่งอย่างสุดซื้ง นับเป็นความโชคดีในโชคร้านของชาวบ้านโป่ง
เหตุการณ์พระราชการณียกิจในเมืองราชบุรี ทั้งการแก้ปัญหาดินเขาชะงุ้ม การเสด็จเยี่ยมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทำให้พวกเราในวันนี้ได้มีโอกาสมาร่วมวิ่งรำลึกถึงท่านในวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์เมื่อ 4 ปีก่อน และแวะดื่มกาแฟ ดื่มนม ที่สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี รำลึกถึงท่านอีกครั้งก่อนปิดท้ายซิตี้รันก่อนกลับถึงบ้าน
,
,
กราบขอบพระคุณอาจารย์ณรงค์อีกครั้งที่มาร่วมวิ่ง ดูแล ให้ความรู้ แก่พวกเราชาวนักวิ่ง
ขอบคุณ สสส สนับสนุนกิจกรรมซิตี้รันราชบุรี เรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยสองเท้า
ขอบคุณเพื่อนนักวิ่งชาวราชบุรีที่พาเที่ยว นำทาง ตลอดเส้นทาง
ขอบคุณเพื่อนนักวิ่งทุกท่านที่มาวิ่งด้วยกัน
.
.

แล้วเจอกันใหม่ครับใน CityTrail Run สัญจร
#วิ่งชมเมืองไทย #ThailandCityRun
#CityTrailRunners
เขียนสรุปโดย Jo Jirapong
ภาพถ่าย Bankerwin , Mhu