EP108 ย้อนรอยประวัติศาสตร์จากเพลง “เจ้าตาก”

ฟังพอดคาสตอนนี้กัน

ยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว

มื้อนี้เราจะเคี้ยวข้าว และทุบหม้อข้าว

ตีแหกฝ่าวงล้อม ลุยพม่าข้าศึก

นึกถึงความเป็นไทย ดีกว่าไปเป็นทาส

สองมือถือดาบอย่างมั่นใจ  นักรบไทยของพระเจ้าตาก

ฝากฝังกรุงอยุธยา  วันข้างหน้าข้าจะมาทวงคืน

แผ่นดินไทยดาลเดือด ทัพข้าศึกรุมล้อม

มัวแต่กล่อมสตรี เริงโลกีย์เป็นหลัก

นักรบกลายเป็นศพ พบกับความปราชัย

เจ้าตากทนไม่ได้ แผ่นดินไทยเป็นหลัก

นักรบคือนักรบ นักสู้แห่งกรุงศรี

ตีฝ่าทัพตองอู ตายหรืออยู่ไม่สําคัญ

คืนนี้จันทร์หลับไหล แหกวงในวงล้อม

อ้อมออกจากกรุงศรี ไปเข้าตีเมืองจันทน์

ยึดเมืองจันทบุรี เป็นชุมนุมเจ้าตาก

ตีชุมนุมต่างๆ ตีเจ้าฝางให้แตก

ทบทวนความพ่ายแพ้ แก้ไขยุทธวิธี

รวมชุมนุมที่มี ก่อนโจมตีเจ้าฝาง

พ่ายแพ้เป็นบทเรียน ทําจากเล็กไปใหญ่

เจ้าฝางชะล่าใจ ในไม่นานก็แตก

จากอยุธยา มาเมืองจันทบุรี

มากรุงธนบุรี ไทยจึงมีเอกราช

จากอยุธยา มาเมืองจันทบุรี

มากรุงธนบุรี ตากสินมหาราช

เนื้อเพลง “เจ้าตาก”
คำร้อง ทำนอง แอ็ด คาราบาว

เพลง เจ้าตาก โดย ศิลปิน คาราบาว

ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจอ อัฐศก พระยาตากจึงได้ตัดสินใจร่วมกับพระยาพิชัย พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี และรวบรวมผู้คนอีกประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าออกไปทางหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก โดยกองทัพของพระยาตากนั้นมีปืนเพียงกระบอกเดียว แต่เนื่องจากความชำนาญด้านอาวุธสั้น จึงทำให้กองทัพของพระยาตากสามารถยกกำลังออกมาจากค่ายวัดพิชัย และตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าออกไปได้


เส้นทางคร่าวๆ ของพระเจ้าจาก

กรุงศรีอยุธยา วัดพิชัย – บ้านหารตรา บ้านโพธิ์สังหาร (อ.อุทัย) บ้านพรานนก บ้านบางดง หนองไม้ทรง เมืองนครนายก ด่านกบแจะ (อ.ประจันตคาม) ศรีมหาโพธิ วกมาทาง ปากน้ำโจ้โล (อ.บางคล้า) ต่อไปที่ บางปลาสร้อย นาเลฃกลือ พัทยา นาจอมเทียน ไก่เตี้ย สัตหีบ เมืองระยอง แกลง จันทบุรี เลยไปถึง บ้านทุ่งใหญ่ (ตราด)

เจ้าตากประกาศ ณ เมืองระยอง

ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงหัวเมืองให้ได้มาก แล้วจะยกกลับไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจัดทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎร ซึ่งอนาถาหาที่พำนักมิได้ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข แล้วจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้นให้คนทั้งหลายยำเกรงจงมาก ซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด

จากนั้น พระองค์ทรงสั่งให้ทุบหม้อข้าว เพื่อเตรียมเข้าตีเมืองจันทบุรี

“..จึงตรัสสั่งโยธาหาญทั้งปวงให้หุงอาหารรับพระราชทานแล้ว เหลือนั้นสั่งให้เทเสีย ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้ ไปหาข้าวกินเช้าเอาในเมือง ถ้ามิได้ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด..”

สมเด็จพระเจ้าตากสิน สามารถกู้กลับคืนมาได้ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก ซึ่งตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 รวมใช้เวลารวบรวมผู้คนจนเป็นทัพใหญ่กลับมากู้ชาติด้วยระยะเวลาเพียง 7 เดือน

ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อเจ้าตากทำการพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศเสร็จแล้วคิดจะปฏิสังขรณ์พระนครศรีอยุธยาตั้งเป็นราชธานีดังแต่ก่อนมาจึงขึ้นทรงช้างที่นั่งเที่ยวทอดพระเนตรในบริเวณพระราชวัง และประพาสตามท้องที่ในพระนครเห็นปราสาทราชมนเทียรตำหนักใหญ่น้อยทั้งอาวาสวิหาร และบ้านเรือนชาวพระนคร ถูกข้าศึกเผาทำลายเสียเป็นอันมากที่ยังดีอยู่นั้นน้อยก็สังเวชสลดพระหฤทัยในวันนั้น เสด็จเข้าไปประทับแรมอยู่ที่พระที่นั่งทรงปืนอันเป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกข้างท้ายวังมาแต่ก่อน เจ้าตากทรงพระสุบินว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมาขับไล่มิให้อยู่ครั้นรุ่งเช้าจึงเล่าพระสุบินให้ข้าราชการทั้งปวงฟัง แล้วดำรัสว่า เดิมเราคิดจะปฏิสังขรณ์ พระนครให้คืนดีดังเก่า แต่เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่ฉะนี้เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีเถิดแล้วเจ้าตากก็ให้อพยพผู้คนลงมาตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองธนบุรีแต่นั้นมา”

3 มกราคม 2309 (2310) พระเจ้าตากตีฝ่าทัพพม่าออกจากวัดพิชัย

https://goo.gl/maps/R44Si2sXQFyZNC9X6

ชุมนุมใหญ่หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า แนวคิดที่ว่าดินแดนสมัยอาณาจักรอยุธยาเดิมถูกแบ่งออกเป็น 5 ชุมนุม อาจเป็นแนวคิดจากพระวนรัตน์ แต่ชุมนุมที่ถูกนับนี้ เป็นชุมนุมที่มีขนาดใหญ่และมีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากเท่านั้น ซึ่งพระราชพงศาวดารก็ได้บันทึกตามนี้เช่นกัน[4]

ชุมนุมพระยาตาก

เป็นชุมนุมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก่อนที่จะตั้งกรุงธนบุรี เมื่อพระยาตากพิจารณาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาไม่มีทางรบชนะ จึงนำทหารจำนวนหนึ่งไปสร้างฐานกำลังตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่ชายแดนกัมพูชา จนถึงเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกทั้งหมด

ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก

เจ้าพระยาพิษณุโลกตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์ และ ปากน้ำโพ เจ้าพระยาพิษณุโลกมีนามเดิมว่า เรือง เคยเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสู้รบ จึงมีผู้นับถืออยู่มาก เมื่อตั้งตนเป็นเจ้าแล้ว ได้มีข้าราชการเก่ากรุงศรีอยุธยาขึ้นมาสวามิภักดิ์อยู่ด้วยหลายนาย

ในปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก เจ้าพระยาพิษณุโลกได้ให้หลวงโกษา (ยัง) ยกกองทัพมาตั้งรับที่ตำบลเกยชัย เขตเมืองนครสวรรค์ พอกองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกขึ้นไปถึง ก็ได้ปะทะรบพุ่งกันอย่างสามารถ ข้าศึกได้ยิงปืนมาถูกพระชงฆ์ (หน้าแข้ง) ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีบาดเจ็บ จึงต้องยกทัพกลับ เจ้าพระยาพิษณุโลกเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์ พอราชาภิเษกได้ 7 วัน ก็ได้ประชวร และถึงแก่พิราลัยในที่สุด พระอินทรอากร น้องชายของเจ้าพระยาพิษณุโลกจึงได้ขึ้นครองเมืองแทน แต่ก็ทำให้เมืองพิษณุโลกอ่อนแอตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ เจ้าพระฝางเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะ จึงยกทัพลงมาตีเมืองพิษณุโลก และผนวกรวมกับชุมนุมพระฝางไปในที่สุด

ภาพแสดงที่ตั้งชุมนุมต่าง ๆ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พ.ศ. 2310)

1: ชุมนุมพระยาตาก (รวมกับชุมนุมสุกี้พระนายกอง)

2: ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก

3: ชุมนุมเจ้าพระฝาง

4: ชุมนุมเจ้าพิมาย

5: ชุมนุมเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช

พระปลัด (หนู) ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวบ้านเรียกว่า เจ้านคร มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงหัวเมืองมลายู

เจ้าเมืองนี้มีชื่อเดิมว่า (หนู) เป็นเชื้อสายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้เข้ามาถวายงานที่กรุงศรอยุธยา มีความชอบจนได้เป็น หลวงสิทธิ์นายเวร มหาดเล็ก แล้วไปเป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราชต่อมา เมื่อพระยาราชสุภาวดี เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมีความผิด หลวงสิทธิ์นายเวรจึงไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแทน

เมื่อปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช โดยมีเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ กองทัพเจ้านครฯ กับกองทัพกรุงธนบุรีได้สู้รบกันอย่างสามารถ แต่แม่ทัพกรุงธนบุรีที่ยกทัพไปกลับไม่ปรองดองกัน จึงไม่สามารถปราบชุมนุมเจ้านครฯ ได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องทรงลงไปตีด้วยพระองค์เอง แล้วก็ทรงตีได้สำเร็จ เจ้านครศรีธรรมราช เจ้าหนู ต้องหนีละทิ้งเมืองไปอยู่ที่เมืองปัตตานี แต่เจ้าเมืองปัตตานีเกรงกลัวกองทัพสยาม จึงส่งตัวกลับมาให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่นั้นมาหัวเมืองปักษ์ใต้จึงมาอยู่ภายใต้อำนาจกรุงธนบุรี พระองค์ทรงไม่ประหารเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพราะเนื่องจาก ในขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาแตก ไม่มีเมืองที่ใหญ่กว่ามาปกครอง เมืองนครศรีธรรมราชจึงต้องตั้งตนเป็นอิสระ

ชุมนุมเจ้าพิมาย

ชุมนุมเจ้าพิมายนั้น มี กรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นเจ้าเมือง กรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผนวชในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ แต่ต่อมาได้มีความผิดฐานคิดกบฏ จึงถูกเนรเทศออกไปอยู่ที่ลังกา และ เมื่อพระเจ้ามังระส่งกองทัพมาตีไทย กรมหมื่นเทพพิพิธได้ทราบว่าเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า จึงได้เดินทางกลับไทย เกลี้ยกล่อมผู้คนในเมืองนครราชสีมาให้สมัครเป็นพรรคพวกของตน และในที่สุดก็ยึดเมืองนครราชสีมาได้

ต่อมา หลวงแพ่ง น้องพระยาราชสีมาได้ไปเกณฑ์พลจากเมืองพิมาย เพื่อไปตีเมืองนครราชสีมาเอาเมืองคืน ปรากฏว่ารบชนะ จึงจับกรมหมื่นเทพพิพิธได้ หลวงแพ่งต้องการที่จะประหารชีวิตกรมหมื่นเสีย แต่เจ้าพิมายมีความสงสารจึงขอชีวิตไว้ และขอนำกรมหมื่นเทพพิพิธไปคุมไว้ที่เมืองพิมาย แต่เจ้าพิมายจงรักภักดีต่อเจ้ากรุงศรีอยุธยามาก จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นเจ้าเมืองพิมาย ส่วนตนนั้นได้ถูกแต่งตั้งให้เป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั้งหมด หลังจากนั้น กรมหมื่นฯก็ได้กำจัดหลวงแพ่ง แล้วยึดเมืองนครราชสีมา และ หัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงมารวมกับพิมายทั้งหมด

หลังจากการสถาปนากรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระบัญชาให้ พระราชวริน (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) ยกทัพไปตีชุมนุมพิมาย ภายหลังจากทรงหายจากการรบกับพิษณุโลก และ เป็นปีเดียวกันกับปีที่ยกทัพไปตีพิษณุโลก กองทัพพิมายมิสามารถต้านทานกองทัพกรุงธนบุรีได้จึงต้องแตกพ่ายไป ครั้นเมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธทราบข่าว จึงรีบอพยพครอบครัวไปอยู่เวียงจันทน์ แต่ ขุนชนะ กรมการเมืองนครราชสีมาตามตัวไว้ได้ทัน จึงนำมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงจำต้องสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธ

ชุมนุมเจ้าพระฝาง

ดูบทความหลักที่: ชุมนุมเจ้าพระฝาง

พระสังฆราชาในเมืองสวางคบุรี (ฝาง) ได้ตั้งตนเป็นเจ้า ทั้งที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ชาวบ้านทั่วไปเรียก เจ้าพระฝาง หรือ พระเจ้าฝาง มีชื่อเดิมว่า เรือน เป็นชาวเมืองเหนือ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระศาสนาจากราชสำนักกรุงศรีอยุธยา และได้รับการแต่งตั้งเป็น พระพากุลเถระ ราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี อยู่ ณ วัดศรีอยุธยา และได้แต่งตั้งเป็นพระสังฆราชาเจ้าคณะเมืองสวางคบุรี กลับขึ้นไปจำวัดอยู่ที่วัดพระฝาง แล้วก็ตั้งตนเป็นเจ้าทั้งที่อยู่ในสมณเพศ แต่ผู้คนก็พานับถือ เนื่องจากชาวบ้านนับถือว่าเป็นผู้วิเศษ

หลังจากสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบข่าวเรื่องที่เจ้าพระฝางยกทัพชุมนุมพิษณุโลกได้ และถึงกับส่งกองทัพไปปล้นแย่งชิงข้าวปลาราษฎรลงมาถึงเมืองอุทัยธานี และชัยนาท พระองค์จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปปราบในปี พ.ศ. 2313 โดยมีพระยายมราช (บุญมา) เป็นแม่ทัพหน้า กองทัพหน้าของพระยายมราชได้เข้าโจมตีเมืองพิษณุโลกด่านหน้าของเจ้าพระฝาง ซึ่งมีหลวงโกษา (ยัง) คุมกำลังมาตั้งรับอยู่ภายในคืนเดียว แล้วจากนั้นกองทัพหลวงก็ยกไปตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝางสู้รบได้ 3 วัน เห็นศึกหน้าเหนือกำลังจึงพาพรรคพวกหลบหนีไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นพม่าปกครองอยู่ กองทัพหลวงจึงยึดเมืองสวางคบุรีได้ และยังได้ลูกช้างเผือกมาอีกด้วย

โดยชุมนุมเจ้าพระฝาง เป็นชุมนุมอิสระสุดท้ายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝางได้นั้น นับเป็นการพระราชสงครามสุดท้ายที่ ทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงบรรลุพระราชภารกิจสำคัญ ในการรวบรวมพระราชอาณาเขตให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวดังเดิมหลังภาวะจลาจลเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ในปี พ.ศ. 2310 และทำให้สิ้นสุดสภาพจลาจลการแยกชุมนุมอิสระภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และนับเป็นการสถาปนากรุงธนบุรีได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เมื่อสำเร็จศึกปราบชุมนุมก๊กเจ้าพระฝาง ในปี พ.ศ. 2313

Timeline: 

3 มกราคม 2310 (นับปีแบบปัจจุบัน) (ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่) พระยาตากตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากวัดพิชัยมุ่งหน้าทิศตะวันออก

4 มกราคม 2310 ปะทะกับพม่าที่มีกำลัง 30 ม้า พล 200 ที่บ้านพรานนก (ห่างจากกรุงฯ ประมาณ 21km)

13 มกราคม 2310 (ขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่) พระยาตากยกทัพมาปะทะพม่าที่ปากน้ำโจ้โล้ เมืองฉะเชิงเทรา มีชัยเหนือพม่า จากจุดนี้ ไม่มีทัพพม่าตามรายทางอีกแล้ว และพม่าก็ไม่ไล่ตามทัพพระยาตาก

19 มกราคม 2310 (ขึ้น 6 ค่ำ เดือนยี่ พระยาตากนำทัพเดินทางถึง พัทยา พัก 1 คืน เดินทางผ่านนาจอมเทียน ถึงสัตหีล พัก 1 คืน แล้วเดินทัพตามชายทะเล ถึงตำบลหินโขง และบ้านน้ำเก่า แขวงเมืองระยอง หยุดประทับแรมแห่งละ 1 คืน พระยากำแพงเพชรได้ปรึกษาแม่ทัพนายกองว่า บัดนี้กรุงศรีอยุธยาคงจะเสียแก่พม่าเป็นแน่แท้ เราคิดจะรวบรวมอาณาประชาราษฎร์ในหัวเมืองภาคตะวันออกทั้งปวง ซ่องสุมผู้คนให้เป็นกำลังแก่บ้านเมือง และเราจะทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุข

ช่วงเดือนมีนาคม น่าจะยึดเมืองระยองได้

14 มิถุนายน 2310 เวลาเย็น กินข้าวแล้วทุบหม้อข้าว

15 มิถุนายน 2310 เวลา 3 นาฬิกา บุกเข้าพังประตูเมือง บุกเข้ายึดเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ 

6 พฤศจิกายน 2310 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) พระยาตากนำกองทัพเรือบุกโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น จับสุกี้นายกอง กอบกู้เอกราชคืนชาติไทยได้

28 ธันวาคม 2310

หลังจากสร้างพระราชวังบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยพอสมควร บรรดาแม่ทัพ นายกอง ขุนนาง ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดทั้งสมณะพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน จุลศักราช 1128 ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ใส่ความเห็น